วันสุขภาพจิตโลก 2020

พอดแคสต์สร้างกระแสส่งเสริมสุขภาพจิตวัยรุ่นในประเทศไทย

ดิลฉัตร ซุสสุโพวา
คนหนุ่มสามทั้งสี่คน ที่เข้าร่วมรายการพอดแคสต์พิเศษ The Sound of Happiness ของยูนิเซฟ ประเทศไทย พร้อมพิธีกรรายการ
UNICE Thailand/2020/Bundit Chotsuwan
10 ตุลาคม 2020

วัยรุ่นเป็นวัยที่เต็มไปด้วยอารมณ์และความรู้สึก บ่อยครั้งความรู้สึกที่วัยรุ่นมีคือความรู้สึกเครียด ความเศร้า หรือวิตกกังวล ยิ่งในช่วงที่มีการระบาดของโควิด–19  จิตใจยิ่งหมกมุ่นกับความกลัวโรค ความว้าเหว่จากการรักษาระยะห่างทางสังคม ความเครียดจากการเรียนออนไลน์ และความวิตกกังวลเรื่องเศรษฐกิจอันน่าตื่นตระหนก รวมถึงภาวะหดตัวของตลาดงานอาชีพในช่วงเวลานี การเรียนรู้ในการดูแลตัวเองและผู้อื่น จึงยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นไปกว่าเดิม

ผลสำรวจของยูนิเซฟเรื่องผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อเด็กและเยาวชนในประเทศไทยที่เผยแพร่เมื่อเดือนมษายนที่ผ่านมาระบุว่า เด็กและเยาวชนมากกว่า 7 ใน 10 คน ในประเทศไทยได้รับผลกระทบทางสุขภาพจิตจากการแพร่ระบาดของโควิด–19 ทำให้เกิดความเครียดและวิตกกังวล สิ่งที่เด็กและเยาวชนกังวลใจมากที่สุดคือ ความไม่มั่นคงทางการเงินของครอบครัว ตามด้วยความไม่มั่นใจในการศึกษาและโอกาสการทำงานอนาคต

การได้พูดระบายความรู้สึกของตนเองออกมาสามารถช่วยลดความรู้สึกสิ้นหวังทัอใจได้เป็นอย่างดี ดังเช่น แคมเปญ The Sound of Happiness จัดโดยกรมสุขภาพจิตร่วมกับยูนิเซฟและ JOOX ซึ่งมีดาราขวัญใจวัยรุ่น อาทิ เป๊ก ผลิตโชค  ไบรท์ วิน   มิลลิ และเหล่าศิลปินวัยรุ่นชื่อดังอีกมากมายที่มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ตรงในช่วงวัยรุ่นว่าพวกเขาเคยเผชิญภาวะทางสุขภาพจิตอะไรมาบ้าง ผ่านพอดแคสต์ที่ออกอากาศทาง JOOX โดยเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 พวกเขาต่างเคยถูกกลั่นแกล้ง เหยียดรูปลักษณ์ และมีปัญหาความสัมพันธ์ ก่อนจะค้นพบความเข้มแข็งภายในที่ช่วยให้กลับมายืนหยัดได้อีกครั้ง 

นอกจากนี้ยังมีการทำ 6 เพลงใหม่ จากศิลปินไทยขวัญใจวัยรุ่นในอัลบั้ม The Sound of Happiness ทาง JOOX.com เพื่อเล่าเรื่องราวผ่านเพลง อาทิเช่น เพลง “ไหนเล่า” ของมิลลิ - แบล็คชีพ - อัตตา   เพลง “ข้อความ” ของแว่นใหญ่ - ส้มมารี  - ดิว เบทเทอร์ เวทเทอร์ - โต เมอร์ – แอลลี่ ซึ่งมียอดวิวเกือบ 3.5 ล้าน และ 4 ล้านบนยูทูป ตามลำดับ

พอดแคสต์และเพลงในชุดนี้มีเป้าหมายเพื่อทำให้การพูดคุยเกี่ยวกับภาวะจิตใจกลายเป็นเรื่องธรรมดาในหมู่เด็กและวัยรุ่น สนับสนุนให้ผู้ฟังที่เป็นเยาวชนพูดคุยระบายความรู้สึกกับเพื่อน พ่อแม่หรือบุคคลที่ไว้วางใจ และไม่ต้องอายที่จะปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ และถือว่าเป็นการแสดงออกถึงความเข้มแข็งด้วยซ้ำ เพราะสุขภาพจิตคือศูนย์กลางของสุขภาพกาย พัฒนาการและศักยภาพการเรียนรู้ ตลอดจนการเข้าสังคม การเผชิญประสบการณ์ที่บั่นทอนจิตใจเป็นประจำสามารถสร้างผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจของเด็กคนนั้นไปชั่วชีวิต  รวมทั้งอาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำร้ายตัวเอง ติดแอลกอฮอล์หรือยาเสพติด และมีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ ปัญหาสุขภาพจิตไม่เพียงส่งผลต่อตัวบุคคลแต่ยังเสียหายไปถึงสังคมและเศรษฐกิจ โดยคิดเป็นร้อยละ 4 ของ GDP ตามรายงานของ OECD 

รายงานขององค์การอนามัยโลกระบุว่า ครึ่งหนึ่งของภาวะสุขภาพจิตเกิดขึ้นก่อนอายุ 15 ปี แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษา  ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตเมื่อปีที่ผ่านมาพบว่า เยาวชนอายุ 10 – 29 ปีในประเทศไทยฆ่าตัวตายประมาณ 800 คน อย่างไรก็ตาม สภาพจิตใจของเยาวชนสามารถฟื้นฟูได้ไม่ยาก หากมีคนที่เข้าใจและเครื่องมือเยียวยาทางใจที่เหมาะสม 

“สุขภาพจิตของวัยรุ่นมักถูกมองข้ามเสมอ” นายโธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟประเทศไทย กล่าว “วัยรุ่นส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงแหล่งข้อมูลที่ช่วยชี้แนะแนวทางให้พวกเขาจัดการกับความรู้สึกหรือสุขภาพจิตอย่างได้ผล เราต้องการสร้างสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนการให้ข้อมูล รวมทั้งปรับแก้มุมมองทางลบเกี่ยวกับสุขภาพจิต เพื่อวัยรุ่นจะได้รู้สึกสบายใจในการบอกเล่าปัญหาและความยุ่งยากใจที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่ให้เพื่อน ครอบครัว หรือคนที่พวกเขาไว้ใจได้รับฟัง”

จริง ๆ แล้ว เด็กและวัยรุ่นทุกคนอยู่ในความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาสุขภาพจิต โดยเฉพาะเยาวชนกลุ่มเปราะบางที่ต้องเผชิญกับความยากไร้ การเลือกปฏิบัติ และความรุนแรง 

ในพอดแคสต์ตอนพิเศษ มีเรื่องราวของกลุ่มวัยรุ่นนักเคลื่อนไหว: ปราชญา ศิริ์มหาอาริยะโพธิ์ญา อายุ 15 ปี  โอ๋ อายุ 19 ปี กมลลักษณ์ ทองแดง อายุ 20 ปี และอัมรินทร์ บุญสะอาด อายุ 21 ปี ซึ่งมาเปิดประเด็นสะท้อนมุมมองพร้อมแชร์แนวคิดและประสบการณ์ในประเด็นต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของพวกเขา  เช่น การเป็นบุคคลไร้รัฐ ความพิการ และ LGBTIQ 

“ความรู้สึกซึมเศร้าเสียใจไม่ได้แปลว่าคุณบ้า” ปราชญา นักกิจกรรมสุขภาพจิตเยาวชนกล่าวในตอนที่ 12
พอดแคสต์ชุดนี้ช่วยให้ผู้ฟังได้เริ่มพูดคุยประเด็นคับข้องใจทั้งกับตนเองและผู้อื่น 

“สำหรับฉัน ครอบครัวช่วยได้มากในเวลาที่ยากลำบาก ควรคุยกันและอย่าเก็บปัญหาไว้กับตัวเองคนเดียว” นุช เชยกลิ่นเทศ ผู้เป็นแม่และผู้ฟังที่เข้าชมการผลิตรายการ The Sound of Happiness บอก ช่วงโควิด – 19 เธอตกงานและถูกสารพัดปัญหารุมเร้ารอบด้าน  เธอจึงเริ่มหันมาฟังพอดแคสต์เพื่อเปิดรับความคิดเชิงบวกและคำแนะนำ

แคมเปญนี้ยังช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ฟังร่วมแบ่งปันเรื่องราวผ่านการเขียนบทความ “The Sound of Happiness” เพื่อช่วยเหลือคนที่กำลังพยายามข้ามผ่านปัญหาทำนองเดียวกันด้วยเช่นกัน

“พอดแคสต์ตอน ‘เพื่อนสำคัญต่อชีวิตเราอย่างไร’ ของศิลปินเป๊ก ผลิตโชค สะท้อนเสียงของตัวฉัน เพราะฉันมีเพื่อนที่ฉันแคร์ เหมือนกับมิตรภาพที่เป๊กแบ่งปัน” โปรดปราน สุขเจริญ ผู้ฟังรายคนหนึ่งเขียนไว้ในบทความของเธอว่า “ระหว่างฟื้นตัวจากความสูญเสีย (เพื่อนเนื่องจากอุบัติเหตุ) ฉันรู้สึกเหมือนแพรวาที่พูดถึงความกล้าหาญ อดทนและการรู้จักปรับตัว เมื่อต้องรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต”

“คุณไม่ได้ต่อสู้กับความเจ็บปวดมากมายเพียงลำพัง จงอดทน - ทั้งทางร่างกาย หัวใจ และความคิด แทนที่จะนึกถึงสิ่งที่น่าจะทำ ใช้เวลาและคิดถึงสิ่งที่คุณทำได้ อะไรที่ควรทำในตอนนี้” เธอบอก

เยาวชนไม่ควรต้องรู้สึกโดดเดี่ยวในการเผชิญกับปัญหา   ในวันสุขภาพจิตโลก ยูนิเซฟแสดงให้เห็นว่าเราทุกคนมีบทบาทสำคัญในการปกป้องสุขภาพจิตของตัวเราเองและผู้อื่น พ่อแม่ควรสร้างสิ่งแวดล้อมในบ้านที่ปราศจากการประณามหรือตัดสิน เป็นคนที่ลูกอยากมาขอคำปรึกษาเมื่อเผชิญปัญหา และเพื่อนควรให้ความเข้าใจและรับฟังอย่างตั้งใจ

อินโฟกราฟิก คุณสมบัติของผู้ฟังที่ดี
UNICEF Thailand/2020/Jirapha Laksanawisit
อินโฟกราฟิก กระบวนการฟังด้วยใจ
UNICEF Thailand/2020/Jirapha Laksanawisit

ติดตามชมรายการวาไรตี้ทอล์ค และพอดแคสต์ THE SOUND OF HAPPINESS ได้ทาง JOOX และ www.joox.com

ช่องทางบริการให้คำปรึกษาต่าง ๆ ที่ได้จากผู้เชี่ยวชาญในรูปแบบที่เป็นมิตรกับวัยรุ่น คือ

  1. สายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323
  2. LINE @KhuiKun
  3. เว็บไซต์ เลิฟแคร์สเตชั่น Lovecarestation.com และ
  4. โรงพยาบาลทั่วไป