พัฒนาเยาวชนให้พร้อมรับมือกับอนาคตได้อย่างมั่นใจ

ประเทศไทยมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องพัฒนาเยาวชนให้มีความรู้และทักษะที่จำเป็นต่ออนาคตของชาติและสามารถมีส่วนร่วมเพื่อบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

บีนา กุตติพารามบิล หัวหน้าฝ่ายการพัฒนาและการมีส่วนร่วมของวัยรุ่น องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย
คนกลุ่มใหญ่กำลังยืนอยู่บนเวลา ยกมือขึ้นเมื่อแสดงพลังของพวกเขา ในระหว่างการจัดงาน
UNICEF Thailand/2019/Preechapanich
22 เมษายน 2019

เช่นเดียวกับหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญคือการพัฒนาเยาวชนให้กลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพและเป็นผู้นำที่จะพาประเทศไปสู่ความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศกำลังเผชิญกับอัตราการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรในการเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ โดยภายในปี 2588 อัตราการพึ่งพิงของประชากรของประเทศไทย (สัดส่วนจำนวนประชากรซึ่งมีอายุ 0-14 ปี และมากกว่า 65 ปี ต่อจำนวนประชากรวัยทำงานในช่วงอายุ 15-24 ปี) จะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 20 ในปี 2560 เป็นกว่าร้อยละ 50  นั่นหมายความว่า จากปัจจุบันที่มีประชากรประมาณ 5 คนทำงานเลี้ยงผู้สูงอายุ 1 คน ภายในปี 2583  ประเทศไทยจะเหลือประชากรไม่ถึง 2 คน ทำงานเพื่อเลี้ยงผู้สูงอายุ 1 คน ดังนั้นประเทศไทยจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องพัฒนาเยาวชนให้มีความรู้และทักษะที่จำเป็นต่ออนาคตของชาติและสามารถมีส่วนร่วมเพื่อบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี วิสัยทัศน์อาเซียน 2568 และเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ

หนทางหนึ่งในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวคือการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนเพื่อให้บริการขั้นพื้นฐานและโอกาสในการพัฒนาตนเองสำหรับเยาวชน โดยบริการที่ครอบคลุมดังกล่าวควรมุ่งส่งเสริมการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพและการสร้างทักษะที่จำเป็นเพื่อการดำเนินชีวิตในศตวรรษที่ 21ให้แก่เยาวชน รวมทั้งเสริมสร้างโอกาสและความเท่าเทียมในการจ้างงานเพื่อเป็นการต่อยอดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

เด็กวัยรุ่นชายคนหนึ่งกำลังถือไมโครโฟนและพูดถึงความเห็นของเขาในระหว่างเวิร์กช้อปการเสริมสร้างศตวรรษที่ 21 ซึ่งสนับสนุนโดยยูนิเซฟ
UNICEF Thailand/2018/Preechapanich

การจะทำเรื่องนี้ให้สำเร็จได้ เราต้องมี “วิสัยทัศน์ว่าด้วยอนาคตของเยาวชน” ซึ่งประกอบด้วยนโยบาย บริการ และทรัพยากรที่รัฐบาลจัดสรรให้เป็นการเฉพาะ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชากรซึ่งมีความหลากหลาย และควรเน้นกลุ่มคนที่ต้องการการสนับสนุนมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงโอกาสทางการศึกษา การจ้างงาน และการพัฒนาตนเอง เช่น กลุ่มวัยรุ่นที่มาจากครอบครัวยากจน กลุ่มแม่วัยใส กลุ่มผู้มีความพิการ และกลุ่มวัยรุ่นที่ขาดโอกาสอื่น ๆ   วิสัยทัศน์แห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ควรได้รับงบประมาณสนับสนุนอย่างเต็มที่จากภาครัฐ เพื่อเป็นหลักประกันของบริการที่มีคุณภาพและก่อให้เกิดประสิทธิผลในวงกว้าง

ความท้าทายดังกล่าวเป็นเรื่องเร่งด่วน  แม้ในช่วงสองสามทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยจะมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมากในงานด้านสิทธิเด็ก แต่ยังมีวัยรุ่นจำนวนมากที่ยังเข้าไม่ถึงบริการและการสนับสนุนขั้นพื้นฐาน  รายงานล่าสุดขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ระบุว่า ประเทศไทยมีประชากรอายุ 15-24 ปีจำนวนประมาณ 1.3 ล้านคน ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษาหรือระบบการจ้างงาน นอกจากนี้ ยังมีวัยรุ่นหญิงคลอดลูกเฉลี่ยถึงวันละ 300 คน โดยส่วนใหญ่ต้องออกจากโรงเรียนกลางคันและประสบอุปสรรคในการเข้าถึงโอกาสในการได้งานทำที่ดีในอนาคต

กลุ่มเยาวชนขาดโอกาสดังกล่าวคือกลุ่มเสี่ยงที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ขาดการศึกษา ขาดทักษะ และเข้าไม่ถึงการสนับสนุนที่จำเป็น และเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของความต้องการในตลาดแรงงาน ซึ่งมีการนำเครื่องจักรเข้ามาทดแทนมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากพวกเขาขาดทักษะที่จำเป็นต่อการปรับตัวให้เป็นส่วนหนึ่งของแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของประเทศ

ADAP - กลุ่มนักเรียนกำลังเรียนในชั้นเรียนฝึกอาชีพ
UNICEF Thailand/2016/Thuentap
กลุ่มนักเรียนโรงเรียนมัธยมฐานบินกำแพงแสน จ.นครปฐม ประเทศไทย กำลังเรียนรู้วิธีการทำก้อนซีเมนต์ในระหว่างชั้นเรียนฝึกอาชีพ

หนึ่งในแนวความคิดที่น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี คือการลดช่องว่างระหว่างทักษะที่เป็นที่ต้องการของนายจ้างกับทักษะที่สอนกันอยู่ในโรงเรียนหรือในสถาบันการอาชีวศึกษา เรื่องนี้ภาคธุรกิจมีบทบาทสำคัญในการพัฒนากลไกที่จะสร้างโอกาสด้านการจ้างงาน การฝึกงาน และการฝึกอบรมให้กับนักเรียน นักศึกษาและเยาวชน (โดยต้องคำนึงถึงการปกป้องคุ้มครองสิทธิแรงงานด้วย)  อีกทั้งยังช่วยสร้างทักษะและปูเส้นทางไปสู่การจ้างงานได้ เช่น การสงวนหรือพัฒนาตำแหน่งงานสำหรับผู้ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษา

การเพิ่มงบประมาณและการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบอาชีวศึกษาด้วยเครื่องมือและนวัตกรรมใหม่ ๆ  ตลอดจนการช่วยเยาวชนที่ออกจากโรงเรียนมีโอกาสฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะในด้านต่าง ๆ ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยเตรียมความพร้อมให้เยาวชนสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงาน ได้   นอกจากนี้ ยังควรมีการปรับปรุงกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เพื่อให้นักเรียนที่ขาดโอกาสเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เพื่อให้พวกเขาสามารถเลือกเรียนต่อในสายอาชีพหรือเพื่อพัฒนาทักษะเฉพาะทางได้ สำหรับเยาวชนที่ต้องการเป็นผู้ประกอบการ ทางเลือกหนึ่งคือการจัดตั้งระบบการกู้ยืมเงินสำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในการทำธุรกิจ ซึ่งจะช่วยให้เยาวชนมีทางเลือกในอาชีพมากขึ้น  ทั้งนี้ โอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนยังทำให้คนรุ่นใหม่มีโอกาสพัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบการและมีกิจการเป็นของตนเอง ซึ่งเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไปพร้อม ๆ กัน

adolescent
UNICEF

นอกจากนี้ บริการสำหรับเยาวชนควรจะให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพของเยาวชนด้วยเช่นกัน  โดยต้องจัดสรรทรัพยากรด้านสาธารณสุขเชิงป้องกัน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มโรคไม่ติดต่อต่าง ๆ  ปัญหาสุขภาพจิต ความปลอดภัยบนถนน การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์  ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของปัญหาสุขภาพ การเจ็บป่วย และการเสียชีวิตในช่วงวัยรุ่นในปัจจุบัน

ประเทศไทยไม่สามารถปล่อยให้เยาวชนคนใดตกหล่นจากการพัฒนาได้ ดังนั้นการลงทุนในการพัฒนาบริการที่มีคุณภาพสำหรับวัยรุ่นและเยาวชน จึงเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศให้บรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจและสังคมในอนาคตต่อไป

บทความนี้เป็น 1 ใน 5 บทความขององค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย เพื่อนำเสนอประเด็นหลัก 5 ด้านที่สำคัญต่อการลงทุนในการพัฒนาเด็กและเยาวชน เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเท่าเทียมของประเทศไทยต่อไป

บทความอื่นๆ ในซีรี่ส์นี้

นโยบายห้าประการด้านเด็กและเยาวชนที่รัฐบาลใหม่ควรให้ความสำคัญ

ยูนิเซฟเชื่อว่าการโฟกัสไปที่ห้าแผนปฏิบัติสำคัญเพื่อเด็ก จะก่อให้เกิดผลลัพธ์ในวงกว้างขึ้น เกิดประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม และเป็นแนวทางที่ภาครัฐควรจะพิจารณา เพื่อให้สิ่งเหล่านี้เป็นแนวปฏิบัติขั้นพื้นฐานเพื่อเด็กทุกคนในประเทศไทย

ลดช่องว่างการดูแลเด็กปฐมวัยเพื่อเด็กไทยทุกคน

ประเด็นที่น่าเป็นห่วงสำหรับเด็กที่เกิดในประเทศไทยในวันนี้ คือภาระในอนาคตเมื่อเด็กกลุ่มนั้นเติบโตเข้าสู่วัยทำงาน เด็กเหล่านี้จะต้องแบกรับภาระของคนสูงอายุมากขึ้นเพราะประเทศไทยจะก้าวสู่ประเทศที่เป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged-Society) โดยประมาณการในอนาคตจะมีอัตราพึ่งพิงของผู้สูงอายุ 1 คน ต่อคนวัยทำงานถึง 1.7 คน เทียบกับใน 9 ปีที่แล้วที่มีอัตราพึ่งพิงของผู้สูงอายุ 1 คนต่อคนวัยทำงานถึง 5 คนด้วยกัน

การศึกษาสำหรับศตวรรษที่ 21

คำว่า “การศึกษาสำหรับศตวรรษที่ 21” ย้ำให้เห็นว่า เรากำลังอยู่ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในสภาพแวดล้อมที่ประเทศต่าง ๆ มีความเชื่อมโยงกันมากขึ้นเรื่อย ๆ  และระบบการศึกษาจำเป็นต้องปรับตัว โดยไม่ใช่แค่การปฏิรูปเพียงครั้งคราว แต่ต้องเป็นการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง  เพื่อตอบสนองความต้องการของเยาวชน สังคมและตลาดแรงงานทั้งในปัจจุบันและอนาคต

ประเทศไทยยังขาดความเชี่ยวชาญด้านการคุ้มครองเด็กในระดับชุมชน

ความรุนแรงต่อเด็กเป็นสิ่งที่แพร่หลายในสังคมไทย ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ในปี 2560 มีเด็กเกือบ 9,000 คนเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเนื่องจากถูกทำร้าย โดยส่วนใหญ่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ หนำซ้ำตัวเลขนี้อาจเป็นเพียง ‘ยอดภูเขาน้ำแข็ง’ เนื่องจากกรณีที่เรารับทราบก็มักเป็นกรณีที่รุนแรงมาก ๆ เท่านั้น