ครึ่งหนึ่งของวัยรุ่นทั่วโลกเคยประสบความรุนแรงภายในรั้วโรงเรียนและรอบๆ

ยูนิเซฟเรียกร้องให้ทุกคนร่วมกันปกป้องเด็กจากความรุนแรงในโรงเรียน

13 กันยายน 2018
เด็กผู้หญิงยืนอยู่ตรงหน้ารั้ว
UNICEF/UN014940/Estey

กรุงเทพ -13 กันยายน 2561 – รายงานใหม่ขององค์การยูนิเซฟ ชี้ว่า ประมาณครึ่งหนึ่งของนักเรียนอายุระหว่าง 13-15 ปีทั่วโลก หรือประมาณ 150 ล้านคน  เคยถูกกระทำรุนแรงโดยเพื่อนภายในบริเวณโรงเรียนหรือบริเวณรอบ ๆ

รายงาน An Everyday Lesson - #ENDviolence in Schools เปิดเผยว่า ความรุนแรงระหว่างเด็กด้วยกันเอง ซึ่งวัดจากจำนวนเด็กที่รายงานว่าถูกข่มเหงรังแกในช่วงเดือนที่ผ่านมา หรือมีส่วนในการทะเลาะวิวาทในปีที่ผ่านมา ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์การศึกษาของเด็กเยาวชนทั่วโลก และส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้และความเป็นอยู่ของนักเรียนทั้งในประเทศที่ร่ำรวยและประเทศที่ยากจน

 การศึกษาเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างสังคมที่สงบสุข แต่ถึงกระนั้น สำหรับเด็กหลายล้านคนทั่วโลกแล้ว โรงเรียนกลับเป็นสถานที่ที่ไม่ปลอดภัยนางเฮนเรียตตา โฟร์ ผู้อำนวยการบริหารของยูนิเซฟกล่าว ทุกวัน นักเรียนต้องเผชิญหน้ากับอันตรายต่าง ๆ ซึ่งรวมถึง การต่อสู้ การถูกกดดันให้เข้าร่วมแก๊ง การข่มเหงรังแกทั้งต่อหน้าและบนโลกออนไลน์ การลงโทษด้วยความรุนแรง การถูกล่วงละเมิดทางเพศ และความรุนแรงที่ใช้อาวุธ ในระยะสั้น สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็ก และในระยะยาว มันสามารถนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า โรควิตกกังวล หรือแม้แต่การฆ่าตัวตาย ความรุนแรงเป็นบทเรียนที่ลืมได้ยาก ซึ่งไม่มีเด็กคนไหนควรต้องเผชิญ

รายงานนี้ ได้เปิดเผยถึงความรุนแรงต่าง ๆ ที่เด็กเผชิญอยู่ทั้งในและนอกห้องเรียน จากข้อมูลล่าสุขของยูนิเซฟ พบว่า:

  • 1 ใน 3 ของนักเรียนอายุ 13-15 ปีทั่วโลก เคยถูกข่มเหงรังแก และอีกประมาณ 1 ใน 3 เคยมีส่วนในการทะเลาะวิวาท
  • นักเรียน 3 ใน 10 คนในประเทศที่พัฒนาแล้ว ยอมรับว่าเคยกลั่นแกล้งรังแกนักเรียนคนอื่น
  • ในปี 2560 มีการโจมตีโรงเรียนที่ได้รับการบันทึกหรือยืนยันในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก 396 ครั้ง เซ้าธ์ซูดาน 26 ครั้ง ซีเรีย 67 ครั้ง และเยเมน 20 ครั้ง
  • เด็กวัยเรียนเกือบ 720 ล้านคนอาศัยอยู่ในประเทศที่ไม่ห้ามการลงโทษด้วยความรุนแรง
  • แม้ว่าเด็กทั้งหญิงและชายจะมีความเสี่ยงต่อการถูกข่มเหงรังแกเหมือน ๆ กัน แต่เด็กหญิงมีโอกาสตกเป็นเหยื่อของการข่มเหงรังแกทางจิตใจมากกว่า และเด็กชายเสี่ยงต่อความรุนแรงทางร่างกายและการข่มขู่มากกว่า

การสำรวจสุขภาพเด็กนักเรียนในประเทศไทย ที่ดำเนินการโดยกรมอนามัย ในปีพ.ศ. 2558 ชี้ให้เห็นว่า เด็กนักเรียนอายุระหว่าง 13-15 ปี ร้อยละ 29 บอกว่าถูกข่มเหงรังแกในช่วงเดือนที่ผ่านมา และร้อยละ 26 ได้มีส่วนในการทะเลาะต่อสู้กันในปีที่ผ่านมา

 พวกเด็ก ๆ ใช้เวลาอยู่ที่โรงเรียนประมาณหนึ่งในสามของวัน ห้าวันต่อสัปดาห์ เมื่อเด็กเดินผ่านประตูรั้วโรงเรียนในแต่ละวัน ก็เป็นความรับผิดชอบของเราในการที่จะทำให้พวกเขาปลอดภัยนายโธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าว แต่น่าเศร้าใจที่เรายังคงเห็นข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงในโรงเรียนอยู่เรื่อย ๆ บางครั้งด้วยการกระทำของครูซึ่งเป็นผู้ที่เราหวังว่าจะช่วยปกป้องพวกเด็ก ๆ ด้วยซ้ำ

องค์การยูนิเซฟ กำลังทำงานร่วมกับสำนักงานเลขาธิการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อพัฒนาศักยภาพของโรงเรียนและบุคลากรด้านการศึกษา ในการตอบสนองต่อการข่มเหงรังแก และความรุนแรงในโรงเรียน

 “เราต้องทำให้แน่ใจว่า ทุกโรงเรียนมุ่งมั่นที่จะดำเนินการตามนโยบายคุ้มครองเด็ก ซึ่งหมายถึงการเพิ่มมาตรการที่จะช่วยป้องกันความรุนแรง และดำเนินการตอบสนองอย่างเร่งด่วนหากมีเหตุเกิดขึ้น” นายดาวินกล่าวเพิ่มเติม “สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เราต้องเรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้องทุกคน รวมถึงผู้บริหารโรงเรียน ครู ผู้ปกครอง และตัวนักเรียนเอง ช่วยกันท้าทายวัฒนธรรมการใช้ความรุนแรงในโรงเรียนและในชุมชน ทุกคนต้องลุกขึ้นมาปกป้องความเป็นอยู่ที่ดีของลูกหลานของพวกเรา”

ที่อยู่ติดต่อสื่อ

คงเดช กี่สุขพันธ์
ผู้เชี่ยวชาญด้านสารนิเทศ (ดิจิทัล)
องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย
โทร: 082-077-2233
อีเมล: kkeesukpan@unicef.org
นภัทร พิศาลบุตร
เจ้าหน้าที่สื่อสารเพื่อการพัฒนา
องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย
โทร: 081-498-9333
อีเมล: nphisanbut@unicef.org

Additional resources

เด็กชายกำลังนั่งอยู่ที่ริมรั้ว
พุธที่ 24 กันยายน ที่โรงเรียน Centro Escolar Confederacion Suiza ใน Los Planes de Renderos เมือง San Salvador ประเทศเอลซัลวาดอร์ โรงเรียนแห่งนี้มีคณะกรรมการป้องกันความรุนแรง และนักเรียนได้รับประโยชน์จากกิจกรรมต่างๆ ที่ช่วยให้พวกเขาได้เข้าใจ และแก้ปัญหาความรุนแรงต่างๆ ที่พบเจอในชีวิตประจำวันได้ เด็กชายคนนี้กำลังนั่งพักอยู่ ในระหว่างที่คนอื่นๆ ในโรงเรียนกำลังรวมตัวกันเพื่อชมการแสดงจากคณะละครสัตว์ เขาออกจากกลุ่มมา และคุณครูได้เข้าไปถามว่าเกิดอะไรขึ้น เขาตอบว่าเขาไม่ได้ทานอะไรตั้งแต่ตอนเช้า และตอนนี้เขารู้สึกเหนื่อยเพลีย

ดาวน์โหลดรายงาน An Everyday Lesson - #ENDviolence in Schools ได้ที่นี่

เกี่ยวกับยูนิเซฟ

ยูนิเซฟส่งเสริมสิทธิและความเป็นอยู่ที่ดีของเด็กทุกคน ในทุกๆ งานที่เราทำ ยูนิเซฟทำงานใน 190 ประเทศและดินแดน ร่วมกับพันธมิตรของเรา เพื่อแปรเปลี่ยนความมุ่งมั่นให้กลายเป็นการลงมือทำที่เป็นรูปธรรม โดยมุ่งเน้นไปที่การเข้าถึงพวกเด็กๆ ในกลุ่มที่เปราะบางและถูกมองข้าม ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของเด็กทุกคน ในทุกๆ ที่

เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับยูนิเซฟ และงานเพื่อเด็กของยูนิเซฟ ได้ที่เว็บไซต์ www.unicef.org/thailand/

ติดตามเรื่องราวล่าสุดจากยูนิเซฟได้ที่ ทวิตเตอร์ และ เฟซบุ๊ก ของยูนิเซฟ