สะพานเชื่อมโยงไปสู่อนาคตอันสดใส

โครงการจัดการศึกษาแบบทวิ-พหุภาษา (ภาษาไทย-มลายูถิ่น) ในโรงเรียนเขตพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

นักเรียนกำลังเรียนในชั้นเรียนภาษาถิ่น
UNICEF Thailand/2016/Preechapanich

ไฮไลต์

ระบบการศึกษาไทยทิ้งเด็กจำนวนมากไว้เบื้องหลัง

สองทศวรรษที่ผ่านมา อัตราการเข้าถึงการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก เป็นเพราะรัฐบาลลงทุนมหาศาลด้านการศึกษา อย่างไรก็ตาม ความไม่เท่าเทียมและไม่ทั่วถึงยังคงปรากฏให้เห็นเด่นชัด เช่น เด็กด้อยโอกาสยังเข้าไม่ถึงระบบการศึกษา ทั้งคุณภาพและผลสัมฤทธิ์ก็ยังแตกต่างกันตามพื้นที่ ภาษา และฐานะทางเศรษฐกิจทางครอบครัวของเด็ก หากไม่ศึกษาสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำ และไม่แก้ปัญหาด้วยนโยบายที่อ้างอิงหลักฐานเชิงประจักษ์จากงานวิจัยแล้ว ประเทศไทยจะไม่ประสบความสำเร็จในการยกระดับคุณภาพการศึกษาและไม่บรรลุเป้าหมายการพัฒนาประเทศ

ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอันเนื่องมาจากภาษา

ในประเทศไทย เด็กที่ไม่ได้พูดภาษาไทยเป็นภาษาแม่ต้องเผชิญปัญหาในการเรียนหลายประการ จึงเป็นกลุ่มพิเศษที่ต้องการความช่วยเหลือดูแลด้วยกลยุทธ์เฉพาะ โดยเฉลี่ยพบว่าเด็กกลุ่มนี้มีโอกาสอยู่ในระบบโรงเรียนน้อยกว่าประชากรเด็กทั่วไป กล่าวคือ มีแนวโน้มออกกลางคันสูงกว่า และยังมีผลคะแนนสอบ O-NET ต่ำกว่าอีกด้วย ดังนั้นประเทศไทยจึงต้องหาแนวทางใหม่ๆ เพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากภาษาให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อ 4 สร้างหลักประกันว่า ทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียมและสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ผลวิจัยทั่วโลกสนับสนุนการสอนโดยใช้ภาษาแม่เป็นสื่อ

งานวิจัยและหลักฐานเชิงประจักษ์ในหลายประเทศชี้ชัดว่า เด็กเรียนรู้ได้ดีที่สุดเมื่อใช้ภาษาแม่ในการเรียนชั้นประถมศึกษาตอนต้น ซึ่งพื้นฐานที่แข็งแกร่งนี้จะเป็นทักษะในการเรียนภาษาและสาระการเรียนรู้อื่นได้อย่างดี ดังนั้นการกำหนดนโยบายภาษาและการศึกษาแห่งชาติโดยอ้างอิงหลักฐานดังกล่าว และส่งเสริมการจัดการศึกษาด้วยแบบทวิ-พหุภาษาโดยใช้ภาษาแม่เป็นฐานในเขตพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ ซึ่งเด็กในท้องถิ่นไม่ได้พูดภาษาไทยเป็นภาษาแม่ จะมีส่วนช่วยอย่างยิ่งในการยกระดับคุณภาพการศึกษาของชาติและผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนในประเทศไทย

ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อการผลิตหลักฐานเชิงประจักษ์ของไทยที่รับรองแนวทางดังกล่าว และจัดทำแม่แบบสำหรับการดำเนินงานจัดการศึกษารูปแบทวิ-พหุภาษา ยูนิเซฟร่วมกับสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล จึงออกแบบ พัฒนา ทดลองใช้ และประเมินผลการทดลองใช้หลักสูตรทวิ-พหุภาษาในโรงเรียนนำร่องในเขตพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเด็กใช้ภาษามลายูถิ่นเป็นภาษาแม่ และมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้อยู่อันดับรั้งท้ายของประเทศ

Bridge to a Brighter Tomorrow English Cover
ผู้แต่ง
ยูนิเซฟ ประเทศไทย และ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล
วันที่ตีพิมพ์
ภาษา
อังกฤษ, ไทย

ไฟล์พร้อมสำหรับดาวน์โหลด